
ท่ามวยไทย – เหลี่ยม – ย่างสามขุม
ท่ามวยไทย
ในวิชา ” พาหุยุทธ์ ” เราก็มีศัพท์เฉพาะวิชาไว้ไม่น้อยหน้าของต่างประเทศเหมือนกัน แถมยังมีคำที่เป็นรหัสไว้ใช้ เพื่อมิให้ปฏิปักษ์รู้ล่วงหน้าก็มาก ฉะนั้นท่านที่รู้อยู่จัดเจนแล้ว ก็ขออภัยด้วยที่ผู้เขียน ” เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ” ผู้เขียนมุ่งแต่จะเสนอศัพท์เฉพาะวิชามวยไทยแก่ท่านที่ยังไม่ทราบเท่านั้น จึงหวังจะได้รับความเห็นใจจากปรมาจารย์มวยไทยทั้งหลายด้วย
ผู้เขียนได้ออกนอกเรื่องท่ามวยไทยไปมากพอแล้ว จึงขอกลับมาบรรยายท่ามวยไทยต่อไป
การ ” ตั้งท่า ” มวยไทยเป็นมูลฐานสำคัญเท่า ๆ กับ (Stance) ในแบบมวยสากล แต่โปรดอย่าหลงไหลว่าเหมือนกัน ดังที่อาจารย์มวยบางท่านเข้าใจเพราะ ” ควายไม่ใช่วัว ”
มวยสากลไม่ใช้ตีน ” ท่าคุม ” หรือที่แบบสากลเรียกว่า ” การ์ด ” (Guard) ก็เป็นลักษณะที่ต่อเนื่องกัน มวยไทยต้องเอาใจใส่กับการ ” ตั้งท่า ” ให้รัดกุม มิฉะนั้นการป้องกันก็ดี หรือการโจมตีก็ดี ย่อมได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามเจตนารมณ์ของมวยไทย
ด้วยความประสงค์ที่จักให้ได้ประโยชน์สมบูรณ์ขอเสนอการ ” ตั้งท่า ” ของมวยไทย (หรือสุดแต่จะนิยมแบบจากคณาจารย์อื่นใด) และขอได้โปรดติดตามช้า ๆ เพื่อความเข้าใจไว้ด้วย
มวยไทยเป็นแบบต่อสู้ตั้งแต่หัวตลอดตีน ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
เพราะฉะนั้นการ ” ตั้งท่า ” จึงต้องพยายามฝึกฝนให้กระชับทะมัดทะแมง (Compact) ใครถนัดหมัดขวาให้ก้าวตีนซ้ายออกไปข้างหน้า ยาวกว่าช่วงก้าวปกติเล็กน้อยพอไม่ให้เสียหลัก ยกหมัดขวาขึ้นเท่าระดับหน้า (ตรงจุดอุณาโลม) (ดังเคยแนะนำไว้แล้วตอนต้น) คือกลางระหว่างหัวคิ้ว ให้หมัดห่างจากหน้าประมาณ ๓ คืบ หรือ ๑๒ นิ้ว ดังนี้ ศอกซ้ายซึ่งซ่อนอยู่ (ไม่สังเกตไม่เห็น) จะทำหน้าที่บังจุดสำคัญตรงที่ตั้งหัวใจ ส่วนหมัดขวาให้ยกขึ้นเท่าระดับกึ่งกลางของปลายแขนซ้าย ศอกขวาก็จะกลายเป็นเฝือกป้องกันซี่โครงอ่อนด้านขวา และตับอันเป็นอวัยวะเก็บกำลังสำรอง ขณะเดียวกัน หมัดขวาก็ทำหน้าที่ปกป้องจุดอ่อนอีกแห่งหนึ่งคือ ” อกรวบ ” หรือ ” ยอดอก ” ซึ่งนักมวยตะวันตกเรียกว่า ” โซลาร์ เปล๊กซุส ” ” Solar plexus “
ไม้มวยสากลที่กล่าวนี้ไม่มีคนรู้จักจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อรูบี้ บ๊อบ ฟิตซีแมน ซัดมือที่ปั้นเป็นก้อนเข้ายอดอก เจมส์ เจ. คอร์เบต ถึงแก่อสัญญี จนได้ครองตำแหน่งจอมมวยโลก ฝ่ายแพทย์ศาสตร์สนใจได้ถกเถียงหารือกัน และในที่สุดลงมติว่า ” อกรวบ ” หรือ ” ยอดอก ” เป็นศูนย์รวมประสาท หรือปราณ นักข่าวกีฬานิยมใช้ชื่อ ” โซลาห์ เปล๊กซุส ” จนแพร่หลายเป็นศัพท์เฉพาะวิชาติดปากในวงการมวย
แต่อันที่จริง พวกชาวตะวันตกก็ไม่วายมองข้ามของเก่าแบบเดียวกับคนไทย เพราะที่ “สำคัญ”แห่งนี้เคยเรียกกันมาก่อนหลายสิบปีว่า ” มาร์ก ” (Mark) และมวยไทยถือว่าเป็น ” จุดมรณะ ” ซึ่งเป็นเป้าหมายในเขตราว นม กระบังลม ลิ้นปี่ มานานแล้วเหมือนกัน
เหลี่ยม

หากนักมวยได้ยืนพิจารณาตนเองในกระจกบานใหญ่ ๆ ก็จะเห็นว่าการ ” ตั้งท่า ” เท่าที่กล่าวมาแล้ว มีการป้องปิดแนบเนียนพอใช้ ตั้งแต่บั้นเอวจนถึงกระหม่อม ส่วนท่อนล่างตั้งแต่บั้นเอวจนถึงปลายตีนยังมีช่องว่างอยู่ ฉะนั้นมวยไทยจึงต้องย่อตัวลงเล็กน้อย และเผยอส้นเท้าขึ้นนิด ๆ เพื่อให้หัวเข่าทั้งซ้ายขวาเกิดมุมไม่เสี่ยงต่ออาการหักหรือเคล็ดเมื่อถูกปฏิปักษ์ใช้ตีนถีบขา จริงอยู่ การตั้งท่าแบบนี้ตามหลักสรีรวิทยาและมวยแบบตะวันตกถือว่าก่อความเคร่งเครียดแก่ร่างกาย ขัดต่อการเคลื่อนไหวและฝืนอริยาบถ แต่โปรดอย่าลืมว่าขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องมวยไทย
ผู้เขียนยอมรับว่าตอนแรก ๆ ฝึกหัดย่อมจะรู้สึกเมื่อยและไม่สู้จะสบายนัก แต่เมื่อพยายามฝึกฝนต่อไปพอเกิดความเคยชินก็จะไม่รู้สึกขัดเขินเหมือนเมื่อตอนแรกฝึกลักษณะย่อตัวดังกล่าวเป็นการลดช่องว่างตอน ” กระเดียดน้ำ ” อันเป็นส่วนอ่อนระหว่างชายโครงกับกระดูกเชิงกรานให้แคบลง ปกปิดการเตะได้ง่าย นอกจากนั้นกล้ามเนื้อขาทั้งสองท่อนย่อมเบ่งเขม็งขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเกร็ง แม้จะเผลอถูกปฏิปักษ์เตะก็ไม่สู้เจ็บฉกรรจ์ (อย่าให้เกิน ๓ ที) ข้อสำคัญต้องให้น้ำหนักตัวอยู่ตรงศูนย์กลาง ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้น้ำหนักท่อนบนเป็นประโยชน์ในการช่วยเหวี่ยงตีนเตะให้แข็งแรงขึ้น ไม่ว่าด้วยหน้าตีน (ซ้าย) หรือตีนหลัง
การ ” ตั้งท่า ” หรือคุมตามแบบที่ได้แนะนำย่อมมีความแน่นรัดกุมพอรับการเตะ ” แคมสำเภา ” หรือที่รู้ ๆ กันในวงการมวยปัจจุบันว่า ” บานพับ ” (พับนอกพับใน) อันเป็น “ไม้สำคัญ” ในวิชามวยไทยภาคใต้ ซึ่งครู ” ตังกี้ ” (ครูมวยเมืองตะกั่วป่า) เป็นคนแรกที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ นายทองใบ ยนตรกิจ (อ้ายยางตัน) จนมีชื่อเสียงลือกระฉ่อน เมื่อประมาณยี่สิบปีมาแล้ว โดยไม่ขยายการป้องกันไว้ให้เลย และนอกจากนั้น ” อ้ายยางตัน ” นายแนบและนายเกียรติ ยนตรกิจ สองพี่น้องยังได้นำ ” ไม้สำคัญ “ออกใช้บ่อยครั้งสมัยเวทีราชดำเนินยังไม่มีหลังคา เป็นเหตุให้นักมวยชั้นนำค่ายอื่นพับฐานถึงขาลากพ่ายแพ้ และที่ขาลีบไปก็หลายคน
แต่อย่าเพิ่งใจร้อน ครูตังกี้ได้ถึงแก่มรณกรรมไปแล้ว โปรดอดใจไว้ ว่าง ๆ คงจะมีการขยาย ” ไม้แก้ ” ออกมาเองเมื่อถึงเวลา สำหรับนักมวยที่ถนัดซ้ายเป็น ” หมัดพิฆาต ” ก็เพียงแต่เปลี่ยนก้าวตีนขวาออกไปข้างหน้า ในทำนองเดียวกับก้าวตีนซ้าย แต่ทว่านักมวยที่หวังความรุ่งเรืองกระเดื่องชื่อ ต้องเพียรพยายามฝึกหัดให้ถนัดแคล่วคล่องทั้งซ้ายและขวา ซึ่งเรียกกันว่า ” เหลี่ยม “
ย่างสามขุม
การตั้งท่าซึ่งสมัยปัจจุบันเรียกว่า ” การจดมวย “เป็นท่าที่คงอยู่กับที่เฉย ๆ นักมวยต้องฝึกหัดย่ำเหยาะยกเท้าก้าวย่าง ตามแบบบันลือชื่อว่า ” ย่างสามขุม ” อันมั่นคง ซึ่งอาจเทียบกับหลักเกณฑ์ความมั่นคงของ Triangular Equilibrium ในวิชาวิศวกรรมศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่ง เรือใบที่อาศัยกระแสลมส่ง แต่อาจแล่นทวนลมได้ด้วยการ ” แล่นก้าว ” เพราะอาศัยหลักเกณฑ์ทำนองการย่างสามขุม คือกลับใบยักเยื้องเป็นสามแนว ถ้าใช้ความสังเกตสักเล็กน้อย ก็จะเห็นว่าว่าวจุฬาที่ใช้คว้าพนันกับว่าวปักเป้าก็ผุกขึ้นตามคัลลองเดียวกันนัยว่าหากเหลาว่าวจุฬาด้วยไม้ไผ่สีสุกย่างไฟค้างปีและผูกให้ได้ตามหลักสามขุม ผนึกกระดาษสาด้วยยางมะตูมแล้ว พลาดท่าเข้าเหนียงปักเป้าหรือถูกสายป่านรัดคอซุง ว่าวจุฬาที่ผูกถูกต้องตามหลักดังกล่าวจะตกยากเต็มที
เมื่อได้กล่าวถึงวิธีฝึกมวยท่อนบนของร่างกาย (หัวถึงบั้นเอว) พอสมควรหรือน่าเบื่อแล้วขอหวนกลับมาพิจารณาท่อนล่างกันต่อไป
อันที่จริงนักมวยสมัยโบราณไม่มีการยืนนิ่ง ๆ อยู่กับที่ เพราะการตั้งท่าทำนองนั้นอาจทำให้นัก ” มวย ” กลายเป็น ” ม้วย ” เมื่อใดก็ได้ในการชกต่อยแบบสากล ถือว่าฟุตเวิร์ค (Foot work) เป็นความรู้สำคัญที่จะนำนักมวยไปสู่ตำแหน่งสุดยอด
มวยไทยก็เช่นเดียวกัน มีท่าก้าวย่างซึ่งถือว่าสำคัญอาจใช้ป้องกันและต่อสู้ได้ในขณะเดียวกัน วิธีก้าวย่างที่อำนวยผลฉกรรจ์หรือผลสำเร็จ จึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้แทนการทอดทิ้งอย่างปัจจุบัน เพราะหากการก้าวย่างไม่มีประโยชน์จริงแล้ว วิชามวยไทยคงไม่จีรังยั่งยืนอยู่ได้ถึงบัดนี้ และ นายยัง หาญทะเล สมัยสนามมวยสวนกุหลาบ คงจะพุ่งทะลุก่อนเรียกเลือดสด ๆ จากหูซ้ายขวาของจอมมวยจีน ” จีฉ่าง ” ซึ่งมีนิ้วแข็งแทงไม้กระดานหนา ๒ นิ้วแตกสองซีกแต่น่าเสียดายที่มวยไทยทุกวันนี้ไม่มีการก้าวย่างแบบอมตะ
ต่างหลงไหลดัดแปลงให้คล้ายท่ามวยสากลเพราะเหตุละเลยท่าสำคัญที่โบราณเรียกว่า ” ย่างสามขุม “
มวยไทยทุกวันนี้จึงโดนเตะขาลาก ขาลีบ กันไปก็มี เคราะห์ยังดีที่ ” มวยคิก ” ยังไม่รู้จักใช้ ” ไม้เป็น” (วิธีแก้) มิฉะนั้นมวยไทยคงจะเอาชนะ ” มวยคิก ” ไม่ได้ง่าย ๆ เป็นที่น่าเสียดายและเสียใจจริง ๆ ที่มวยไทยละเลยเล่ห์เหลี่ยมลูกไม้มวยไทยกันเสียหมด
จากหนังสือ ปริทัศน์มวยไทย โดย ปรมาจารย์เขตรศรียาภัย

