News

“ผลไม้ลูกไม้ไม่อาจยั่งยืนอยู่ได้โดยปราศจากต้น”

  • “ผลไม้ลูกไม้ไม่อาจยั่งยืนอยู่ได้โดยปราศจากต้น”

        

ต้นไม้จะต้องสมบูรณ์แข็งแรงผลจึงจะสมบูรณ์เปรียบเช่นวิทยาการศาสตร์ทั้งหลายไม่ว่าจะมีท่วงท่าไม้เด็ดไม้ตาย ไม้กล ลูกไม้ ฯลฯ ร้ายกาจสูงส่งเพียงใดลึกซึ้งเพียงใดหากผู้ได้รับ รับรู้ รู้เห็น ตกทอด ฯ แต่ขาดซึ่งรากฐานที่ถูกต้อง ก็ยากจะใช้ออกอย่างสมบูรณ์ได้ ดั่งเช่นผลไม้ ดอกไม้ ถูกเด็ดออกจากต้นไม้ฉันนั้นดุจกัน

          ในอดีตครูบาอาจารย์เรียนจริงฝึกจริง ได้รับการประสิทธิให้เป็นครูบาอาจารย์สืบทอดสายวิชาจริง การส่งต่อจึงบริสุทธิ์ปราศจากอคติ แม้การสร้างชื่อจนเป็นที่ยอมรับ ผู้สร้างชื่อจนได้รับการยกย่องขนานนามยอมรับให้เป็นครูบาอาจารย์ต่างก็เป็นนักรบ ขุนศึก นักดาบ นักมวย นักวิทยาการที่มีสังกัดสำนัก มีครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทให้ทั้งสิ้น ทุกท่านจึงนับว่ามีต้นอันสมบูรณ์ เชื่อถือได้แม้หายากแต่เมื่อพบแล้วเป็นต้นแท้ เพชรแท้แน่นอน ควรแก่การฝึกฝนเรียนรู้สืบต่อ ฯ

          แต่ในปัจจุบันยุคสื่อสาร สื่อวีดีทัศน์ไปทั่วโลกทุกซอกมุม คนมักติดอยู่ในโลกออนไลน์เสพติดจนยากจะแยกแยะว่า

“ สิ่งใดแท้ สิ่งใดเทียม สิ่งใหนที่สุด สิ่งไหนครึ่งๆกลางๆ สิ่งใดเท็จ สิ่งใดจริง ฯลฯ “

          ผู้คนผู้ใฝ่รู้จริงจึงควรใช้สติปัญญาอย่างสูงสุด ในการหาวิทยาการขนานแท้ซึ่งครูบาอาจารย์ตั้งต้นเองมีอยู่ทุกซอกมุมในโลกดุจกัน เข้าทำนอง ครูมีมากให้มองเห็น แต่หาครูแท้ๆได้ยากกว่างมเข็มในมหาสมุทรก็ไม่ปาน

          วิทยาการศาสตร์ที่เรียนเองตามตำราแผ่นหนัง แผ่นกระเบื้อง ฯ อย่างไรเสียก็สู้การมีครูผู้รู้จริงคอยบ่มเพาะขัดเกลาชี้แนะไม่ได้แม้จะเรียนจะฝึกจากวีดีโอก็ตาม

          อีกทั้งตำราก็มักจะมีท่าแม่ไม้ ลูกไม้ บันทึกจารึกให้ดูให้อ่านเป็นบางส่วนที่เขียนได้บรรยายได้แต่ก็ยากที่จะเขียนทุกอย่างลงเป็นตัวหนังสือได้หมดโดยเฉพาะอารมณ์ ไหวพริบ ปัญญา อันเป็นส่วนลึก “นามธรรม” อันอยู่ภายในแฝงท่วงท่าเหล่านั้น

          ท่ามวย ไม้เด็ดต่างๆ จึงประดุจประตู ลายแทงขุมทรัพย์ ให้ค้นหาเท่านั้นมันครึ่งๆกลาง ได้ยอด ได้กลาง ไม่ได้ต้น เป็นต้น เข้าทำนอง “หมอปะ” ในทางแพทย์เเผนไทยรักษาตามตำราที่ค้นเจอตกทอด แต่ปรุงยาประกอบยา(ยกยา) บัญญัติยาไม่เป็นตามอาการโรคที่ไม่เหมือนกันทุกคนแม้โรคเดียวกัน ต่างจากหมอที่เรียนที่ศึกษาอย่างลึกซึ้ง รู้อาการโรค รู้จักตัวยา รู้จักสรรพคุณตัวยา ฯ จนปรุงยาตามอาการและรักษาให้หายขาดได้

          วิทยาการศาสตร์ศิลป์ก็ดุจกัน เรียนรู้ดูจดจำ ได้แต่ แตกท่า แก้ท่าไม่ได้ ตามสถานการณ์จะเอาตัวไม่รอดในที่สุด หมดท่าที่จำมาก็หมดกัน

          โปรดจำไว้วิทยาการศาสตร์ย่อมเรียนไม่รู้จบ ใครว่าจบ “ คนนั้นไม่ถึงแก่นแท้คำว่า ศาสตร์แห่งมวยไทย ” ดังในหนังสือปริทัศน์มวยไทย อาจารย์เขตร ศรียาภัยได้กล่าวไว้ในหน้า 166 (บรรทัดสุดท้าย) – 167 (บรรทัด1-3) ว่า

เพราะมวยไทยเป็นศิลปะที่เรียนไม่รู้จักจบ แม้ผู้เขียนซึ่งเรียนมวยไทยมาตั้งแต่เด็กๆจนบัดนี้อายุ 70 ปีครึ่งแล้วก็ยังไม่รู้มวยไทยขนาดเจนจบเลย ฉะนั้นคุณอย่าได้น้อยใจ และพยายามเรียนต่อไปเถิดจะรู้อะไรๆอีกมาก”

ครูแปรง

ณปภพ  ประมวญ

บันทึกไว้เมื่อปี 2555

Leave a Reply

Your email address will not be published.