News,  เคล็ดวิชา

มวยไชยา กับการจรดมวยย่อต่ำ

มวยไชยา กับการจรดมวยย่อต่ำ

การจรดมวยย่อแบบไชยา… นั้นมีเหตุผลมากมาย เต็มไปด้วยหลักการทางวิชาการของศาสตร์ในหลายแขนงของไทย เช่น การแพทย์แผนโบราณ ว่าด้วยเส้น ว่าด้วยเอ็น กระดูก กล้ามเนื้อ เลือด ลม ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น การย่อเป็นการเก็บลูกสะบ้าเข่าให้ล็อกอยู่ในเบ้า ไม่ถึงพิการหากคู่ต่อสู้รู้วิธีทำ กล้ามขาเบ่งเกร็งเองเพื่อปิดเส้นสันตฆาตและปัตฆาต ป้องกันอัมพาตชั่วคราวหากถูกเตะพับนอกและพับใน มุมเข่าหน้าพลิกเข้าปิดจุดอ่อนด้านในแล้วล่อด้านนอกซึ่งแข็งกว่า น้ำหนักอยู่บนปลายเท้าทั้งสองโดยไม่ต้องยกส้นเท้าต้องสัมผัสรู้ พร้อมถ่ายแรงโยกโล้ไปทุกทิศตามกล  ศอกหน้าตลอดแขนปิดหลุมหัวใจ ไหปาร้า ขมับ ตา แสกหน้า ตลอดจนเชิงกระหม่อม ศอกและแขนหลังปิดชายโครงอ่อน ตับ ไหปาร้า และกระเดือก อันเป็นจุดมรณะทุกจุด อันนี้เป็นเพียงภายนอกพอคร่าวๆ ซึ่งยังไม่พูดถึงภายใน การจรดมวยแบบนี้เมื่อเอาดาบมาใส่มือครูท่านเรียกว่า “มวยต่อมือ” ถ้าใส่ไม้ศอกก็เป็นโล่ห์ , ดั้ง , เขน ส่วนหอก , ง้าว , เสน่า , หน้าไม้ , เครื่องยิง เหล่านี้ไม่ต้องพูดถึง ลงตัวอย่างยิ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าการจรดมวยไชยาเป็นผลมาจากการตกผลึกโดยแท้จากศึกสงคราม ผู้ไม่เรียนดาบหรือเรียนอาวุธไทโบราณ จะรู้จะเข้าใจเพียงว่านี้คือการจรดแบบมวยไชยา หารู้ถึงกลที่ซ่อนแฝงไม่

2

การที่ครูแปรงได้ฝึกอาวุธโบราณอยู่บ้าง ยิ่งฝึกลึกๆเข้า ทำให้ยิ่งเห็นความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งพิสดาร จึงทำให้มีย่อมากกว่าหนึ่งวิธี และมีการนั่งอีกหลายแบบ ซึ่งมีผลยิ่งเกี่ยวกับจริตในการคิด ในการแตกลูกไม้เพื่อแก้ไขสถานการณ์อันล่อแหลมฉับพลันทันทีทันใดและเพื่อความปลอดภัย หลักการสลายแรง , ตัดแรง , ชิงแรง , ชิงคม , กลยุทธ , กลศึก ฯลฯ จากวิชาอาวุธและศาสตร์อื่นๆ จึงรวมเบ็ดเสร็จในคราวเดียวโดยไม่ต้องแบ่งแยก บางครั้งใช้ออกอาวุธดัง “มือเป็นมีด” “แขนเป็นดาบ” “ตีนเป็นหอก” “แข้งเป็นง้าว” แม้กระทั่งการปาด เฉือน จิ้ม ทิ่มแทง ฯลฯ เช่นกัน ผู้เป็นครูมวยจึงมีความสำคัญในการสร้างวิถีมวยในสายของตนให้เป็นอย่างไร และมีอัตลักษณ์แบบไหน

มนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดที่สุด ย่อมคิดวิธีต่อสู้ได้มากมายและใช้ทุกอย่างในกายและจิตที่ตนคิดค้นตามปัญญา แม้ขนาดเข้าฌานตีความกันก็ยังมี การเป็นครู ต้องมีความสามารถในการรู้คิด รู้วิธีสู้ได้ทุกสถานการณ์ เช่น ไม่ว่าในพื้นที่ๆใช้ต่อสู้นั้นจะมีความแข็งหรือนุ่มอย่างไร จะลื่นหรือไม่ลื่น อาจจะมีวิธีทำให้ลื่นหรือให้ล้มได้ตลอดเวลา ยิ่งที่แข็งยิ่งล้มง่ายและล้มเจ็บอย่างยิ่ง ลองคิดมุมกลับกัน ที่อ่อนนุ่มไม่จำเป็นต้องกลัวล้มเพราะล้มไม่เจ็บ จรดมวยสูงๆก็ย่อมไม่เป็นไร อีกอย่างการล้มมีมากวิธีแม้การพุ่งล้ม ถูกจับโยนให้ล้มยิ่งน่ากลัว จึงไม่จำต้องกล่าวเรื่องย่อแล้วล้มไม่เจ็บอีก เพราะทางเรามีล้มทุกมิติ ยืน นอน นั่ง เดิน วิ่ง กระโจน โดด เหาะ เหิน ต้องสามารถล้มได้หมด นี่คือความสำคัญที่ครูผู้รู้จะต้องเลือกวิธีสอนให้ศิษย์เพื่อการแก้ปัญหา แก้ทางมวยให้ศิษย์ตน เช่น ตัวใหญ่ให้เน้นเข้าจับทุ่มปล้ำ ตัวเล็กตีต่อยตัดแรงว่องไวไล่ตามจุดอ่อน บางครั้งก็สอนเคล็ดให้แก้เฉพาะทางให้บางคน เคยมีศิษย์สงสัยว่า “แล้วสมัยนี้ใส่นวมจะจับอย่างไร” ท่านก็ว่า “ไม่เห็นต้องใช้มือเลย” จึงทำให้เข้าใจว่า มันไม่จบจริงๆ ลูกไม้เขาแตกลูกออกผลทุกเสี้ยววินาทีทีเดียว

ครูแปรง / ๑ กันยายน ๒๕๕๓

* คัดลอกจากบทความที่ครูแปรงเคยเขียนขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

Leave a Reply

Your email address will not be published.